วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ห้องสมุด

ห้องสมุดคือแหล่งเรียนรู้ อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการประเมิน

ผู้เขียน นางกุสุมา ลอยฟ้า

.....ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพนั้นจำเป็นจะต้องใช้หลักการบริหารจัดการ เช่นเดียวกันกับการบริหารหรือดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่ต้องมีการดำเนินงานให้เป็นระบบครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การประเมิน
.....การประเมินเป็นกระบวนการที่มีบทบาทสำคัญยิ่งสำหรับ องค์กรในปัจจุบัน เพราะความต้องการสารสนเทศเพื่อใช้ในการวินิจฉัย สั่งการ หรือตัดสินใจ ในการปรับปรุง และพัฒนางาน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการประเมินเป้าของการประเมินอาจแตกต่างกันซึ่งจะทำให้ การประเมินมีความซับซ้อนแตกต่างกันไปด้วย สารสนเทศที่ได้จากการประเมินในบางครั้งอาจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การประเมิน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่าง ๆของการประเมินซึ่งจะนำเสนอแต่ละประเด็นดังนี้
1.ปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนและการจัดการประเมิน ประเด็นนี้มีปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก่
.....1.1 ปัญหาของการกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน คือ วัตถุประสงค์กว้างเกินไปไม่ชัดเจนไม่สามารถบอกได้ว่าคืออะไร อาจก่อให้เกิดปัญหาการกำหนดกิจกรรม การประเมินกิจกรรมอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ การมีหลายวัตถุประสงค์ อาจก่อให้เกิดปัญหาในการแปลความหมายได้
.....1.2 ปัญหาของคณะผู้ทำหน้าที่ประเมิน คือ นอกจากมีความรู้ ความเชี่ยวชาญแล้วหากผู้ประเมินไม่มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ขาดประสบการณ์ในการประเมินหรือมีอคติต่อโครงการหรือหน่วยงานที่ประเมินก็อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการบริหารและการจัดการในการประเมินได้นอกจากนี้บทบาท บุคลิกภาพ และจรรยาบรรณก็มีส่วนทำให้การประเมินเกิดปัญหาได้เช่นกัน
.....1.3 ปัญหาการกำหนดทางเลือกที่ใช้ในการบริหารจัดการประเมิน คือ ผู้วางแผนไม่สามารถมั่นใจว่าเทคนิควิธีการบริหารจัดการหรือกิจกรรมสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีอะไรบ้าง และควรเลือกใช้เทคนิคหรือกิจกรรมใดจึงจะสามารถนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ดีการที่ผู้วางแผนไม่พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ เลย ก็อาจเป็นจุดอ่อนของการบริหารจัดการประเมินเพราะการไม่เปิดโอกาสเลือกเทคนิควิธีที่ดีที่สุด อาจนำไปสู่การไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
.....1.4 ปัญหาจากการวางแผนและเตรียมการประเมิน จะทำให้การประเมินขาดประสิทธิภาพ หรืออาจถูกละเลยไม่ได้รับการประเมิน การขาดการประสานงานที่ดีของหน่วยงานก็ถือเป็นปัญหา อุปสรรคต่อการประเมิน
2. ปัญหาการประยุกต์ใช้โมเดลประเมิน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้ประเมินเลือกรูปแบบการประเมินไม่เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการประเมิน มีการเลือกใช้รูปแบบการประเมินที่เป็นที่นิยมหรือรู้จักกันดี หาตำราอ้างอิงง่าย เช่น การนำรูปแบบการประเมิน CIPP ไปใช้กรณีที่โครงการสิ้นสุดไปแล้วเป็นการประเมินย้อนหลัง ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้ประเมิน CIPP ดังนั้น การใช้โมเดลในการประเมินควรคำนึงถึงบริบทและวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ของการประเมินแต่ละครั้งไม่ควรยึดติดกับรูปแบบการประเมินใดรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรออกแบบการประเมินให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของความต้องการใช้ข้อมูลจากการประเมินให้มาก
3. การออกแบบการประเมิน
ถ้ากล่าวถึงการออกแบบการประเมิน จะครอบคลุมการออกแบบ 3 เรื่องคือ ออกแบบกลุ่มตัวอย่าง ออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูล และ การออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล
ปัญหาที่พบในขั้นตอนนี้ผู้เขียนได้รวบรวมไว้ดังนี้
- ปัญหาจากการออกแบบกลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มตัวอย่างไม่เป็นตัวแทน ประชากรอย่างแท้จริง จำนวนและการสุ่มไม่เหมาะสม
- ปัญหาจากการออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูล ประเด็นนี้ หมายถึง เครื่องมือ+วิธีการเกี่ยวกับเครื่องมือ ปัญหาเริ่มได้ตั้งแต่ ไม่กำหนดกรอบความคิด หรือกำหนดไม่ชัด นิยามตัวแปรไม่ชัด
สุดท้าย ปัญหาจากการออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล ที่พบทั่วไป คือ สถิติไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์ ใช้สถิติไม่เหมาะกับข้อมูล/กลุ่มตัวอย่าง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งไม่มีการกำหนดกรอบแนวทางการประเมิน เพราะกรอบแนวทางนี้จะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของวัตถุประสงค์ ตัวบ่งชี้ แหล่งข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และเกณฑ์ในการประเมินได้อย่างชัดเจน สะดวก และง่ายในการดำเนินงานตามกรอบที่วางไว้

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญของการออกแบบการประเมินที่เป็นปัญหา คือ
1. ตัวแปร ปัญหาที่พบ คือ ความเลือกตัวแปรที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการวัด การแก้ไข คือ การทบทวนวัตถุประสงค์ และพิจารณาตัวแปรที่สะท้อนสิ่งที่ต้องการวัดให้ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
2. ผู้ให้ข้อมูล ปัญหาที่พบ คือ การเลือกผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการวัด การแก้ไข คือ การทบทวนว่าสิ่งที่ประเมินใครเป็นผู้เกี่ยวข้องมากที่สุด การเลือกคนผู้นั้นมาให้ข้อมูล 1 คน ย่อมได้ข้อมูลที่ตรงกว่าเลือกคน 100 คนที่ไม่รู้จักสิ่งที่ประเมินเลย 3. การวิเคราะห์ข้อมูล ปัญหาที่พบ คือ การเลือกใช้สถิติไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการ ทำให้ในการนำเสนอไม่ตรงประเด็น การแก้ไขคือ การทบทวนตัวแปร และเลือกค่าทางสถิติที่สามารถสะท้อนค่าของตัวแปรนั้นๆให้ชัดเจนได้ดังนั้น ขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบการประเมิน
4. การกำหนดกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัยการประเมิน
ปัญหาที่พบในการกำหนดกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัยประเมิน มักมาจากผู้วิจัยขาดทักษะ กระบวนการในการเลือกรูปแบบการประเมิน หรือไม่สามารถนำทฤษฎีแนวคิด ในการประเมินมาเลือกใช้กับวัตถุประสงค์ของผู้วิจัยเอง จึงก่อให้เกิดปัญหาในการกำหนดกรอบ และอีกประการหนึ่งคือ การเลือกกรอบการประเมินตามความนิยม ไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการประเมิน
5 การนิยามตัวแปร/ ตัวบ่งชี้และเครื่องมือที่ใช้ในการวัด
สำหรับประเด็นปัญหาทีที่เกี่ยวกับการนิยามตัวแปร / ตัวบ่งชี้และเครื่องมือที่ใช้ในการ วัดคือนิยามตัวแปรไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ และนิยามตัวแปรกว้างเกินไปทำให้ไม่สามารถวัดได้
ตัวบ่งชี้ที่ดี ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ต้องวัดได้ สังเกตได้ ต้องเชื่อถือได้ ไวต่อความแตกต่าง และ ต้องเป็นตัวบ่งชี้สำคัญ การวัด ต้องพูดถึงการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ กลุ่มตัวอย่าง(ลักษณะ จำนวนฯลฯ) เวลา งบประมาณ และคุณสมบัติเฉพาะเครื่องมือ

การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอผลการวิเคราะห์ ข้อมูล
.....ประการแรกจะกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลก่อน ที่จะพบอยู่เสมอได้แก่ การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูล /การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับการกระจายของข้อมูล /การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยเฉพาะการใช้สถิติอ้างอิงประเภทสถิติพาราเมตริกที่จะต้องมีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่พอ /การใช้สถิติไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย,ประเมิน
ประการที่ 2 ปัญหาการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ปัญหาซึ่งเกิดจากการนำเสนอผลการประเมินไม่ตรงและไม่เรียงตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน เสนอผลการประเมินไม่กระชับ มีการสอดแทรกความคิดเห็นลงไปด้วย และนำเสนอโดยไม่คำนึงถึงการสื่อความหมายกับผู้ใช้ผลการประเมินให้เข้าใจ

.....ปัญหาในการเขียนรายงานการประเมิน ที่พบเห็นบ่อยๆจะมีตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องจนกระทั่งถึงการเขียนบรรณานุกรมและภาคผนวกโดยที่สำคัญที่สุดคือ วัตถุประสงค์การประเมิน และกรอบแนวคิดการประเมิน รวมทั้งหัวข้ออื่นที่เกี่ยวข้องกับกรอบแนวคิดการประเมิน คือขอบเขตการประเมิน เนื่องจากหัวข้อเหล่านี้เปรียบเสมือนเข็มทิศหรือหางเสือที่ควบคุมการเขียนรายงานในส่วนอื่น ๆ ตลอดทั้งเล่มถ้ายังไม่มีกรอบแนวคิดหรือมีแต่ไม่สมบูรณ์ก็ยากที่จะทำขั้นตอนอื่น ๆได้สมบูรณ์ สำหรับปัญหาที่พบคือการเขียนประเด็นการประเมินในกรอบแนวคิดคือนำวัตถุประสงค์โครงการมาเขียนเป็นประเด็นการประเมิน ทำให้ไม่ทราบว่าต้องการได้สารสนเทศสำคัญๆอะไรบ้าง และเขียนสาระอื่นๆในกรอบแนวคิดที่ต่อเนื่องจากประเด็นการประเมินไม่ได้

.....ปัญหาการเขียนรายงานการวิจัยที่พบก็คือ 1.เขียนเรียงลำดับหลักการเหตุผลไม่ถูกต้อง ควรเขียนภาพกว้างก่อนแล้วขมวดเข้าหาสิ่งที่จะประเมิน 2.เอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องน้อยกับงานประเมินที่ทำมาใส่มากเกิน 3.เขียนขั้นตอนการประเมินเยิ่นเย้อ ใช้คำฟุ่มเฟือย 4.แสดงผลที่เป็นข้อมูลยากต่อการเข้าใจ 5.ไม่ได้นำข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้ามาใช้ในการอภิปรายผลการประเมิน 6.สรุปผลไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สมมติฐานที่ตั้งไว้ 7.การเขียนข้อเสนอแนะพบว่าเขียนจากความคิดเห็นของผู้ประเมินมากเกินไป 8.มีรูปแบบการเขียนหลากหลาย ตามแต่ละสถาบันกำหนด 9.ใช้ภาษาไม่สม่ำเสมอ ใช้คำที่มีความหมายเดียวกันหลายคำ เช่น โมเดล กับ แบบจำลอง เป็นต้น แนวทางการแก้ไขควรมีการศึกษาการเขียนรายงานการประเมินหลายๆรูปแบบ เพื่อที่ทำให้เขียนรายงานได้ตามความประสงค์ของผู้ใช้ข้อมูลประเมิน และทบทวนภาษา การสื่อความเข้าใจ การสะกดคำให้ถูกต้อง อาจให้ผู้อื่นช่วยตรวจสอบก่อนอีกครั้ง

แนวโน้มการวัดและประเมินผล

ผู้เขียน นางกุสุมา ลอยฟ้า

ทิศทางของการประเมิน หมายถึงแนวโน้มหรือทางใหม่ ๆ ในการประเมิน แบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ ทิศทางของการประเมินทั่วไป กับ ทิศทางของการประเมินทางการศึกษา ซึ่งประการแรกจะกล่าวถึงทิศทางของการประเมินทั่วไปก่อน ทิศทางการประเมินทั่วไป หมายถึงแนวโน้มหรือทางใหม่ ๆ ในการประเมิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยุคที่ 4 ตามการแบ่งของกูบาและลินคอล์น มีการเปลี่ยนแปลงจากการประเมินในยุคก่อน ๆ หลายประการ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้การประเมินมีความเป็นสากลมากขึ้น สามารถพิจารณาในด้านต่างๆ ดังนี้

1.ด้านแนวคิดเกี่ยวกับการประเมิน นิยมใช้แนวคิดของการประเมินในยุคที่ 4 รากฐานแนวคิด
และความเชื่อมาจากกระบวนทัศน์แบบสร้างสรรค์นิยมที่โต้แย้งกับแนวคิดเดิมว่าหลักการแสวงหาความรู้เชิงประเมินที่เป็นความจริงแท้ด้วยการใช้รูปแบบและวิธีการประเมินเชิงปริมาณมีข้อจำกัดคือความรู้ทางการประเมินแบบดั้งเดิมไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมในสังคมที่มีความซับซ้อน รวมทั้งมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องผลการประเมินส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ต่อระดับสูงผู้ปฏิบัติในระดับล่างได้รับผลประโยชน์จากการประเมินน้อย รูปแบบหรือวิธีการประเมินไม่ตอบสนองต่อปฏิกิริยาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลของการประเมินที่ได้จากการวัดด้วยข้อมูลเชิงปริมาณส่วนใหญ่มีความคลาดเคลื่อน ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้นักทฤษฎีและผู้เชี่ยวชาญทางการประเมินได้เสนอทางเลือกที่เน้นการประเมินแบบตีความหมาย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย วิธีการประเมินในยุคที่ 4 มีลักษณะสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ
...1.ต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรยายรายละเอียดให้กระจ่างชัดเกี่ยวกับการดำเนินงาน
...2.ความรู้ด้านการประเมินที่ดีต้องเป็นที่ยอมรับว่ามีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้และเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะประเมิน เพราะมีบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก
...3.รูปแบบและวิธีการประเมินไม่เน้นกรอบความคิด ไม่ยึดกับวิธีการประเมินแบบใดแบบหนึ่งตายตัว เน้นการประเมินเชิงธรรมชาติ
...4.นักประเมินมีบทบาทหน้าที่หลักในการดำเนินการประเมินร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ให้บริการ ให้คำปรึกษาให้กำลังใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับความร่วมมือร่วมใจในการประเมิน และประการที่
...5.ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการประเมินประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย
จะเห็นได้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินในยุคนี้จะใช้วิธีการแสวงหาความรู้ทางการประเมิน ด้วยวิธีการแสวงหา ค้นหา ผู้เกี่ยวข้องกับการประเมินมีส่วนร่วมมาก ผู้ใช้ผลการประเมินมีหลายกลุ่ม ใช้ผลการประเมินแบบเน้นความเข้าใจแนวคิด และมีการใช้ผลการประเมินในระยะยาว ใช้ความรู้จากหลายสาขาวิชา และมีการประเมินงานประเมินซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นวิธีการประเมินที่นิยมใช้กันในยุคนี้

2.วิธีการประเมินที่ได้รับความนิยม ซึ่งมีทั้งหมดอยู่ 4 วิธีคือ 1.ใช้วิธีการประเมินที่ตอบสนองผู้ใช้ผลการประเมิน วิธีการนี้จะเน้นการบรรยายความสัมพันธ์ขององค์ประกอบตามที่คาดหวังและที่เกิดขึ้นจริง แล้วตัดสินคุณค่าโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานในทัศนของผู้เกี่ยวข้องหลายๆฝ่าย ส่วนการตัดสินขั้นสุดท้ายเป็นการใช้ดุลพินิจของผู้ประเมินเอง 2.การประเมินแบบมีส่วนร่วม แบบนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักประเมินอาชีพกับบุคลากรภายในหน่วยงานในการประเมินการดำเนินงานของหน่วยงาน 3.การประเมินแบบเสริมพลังอำนาจ เป็นการประเมินแบบมีส่วนร่วมที่นักเข้าไปมีส่วนร่วมในการประเมินของบุคลากรในหน่วยงานค่อนข้างน้อยแต่จะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะหรืออำนวยความสะดวกอำนาจในการประเมินขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายวงการ และ 4.การประเมินโดยมีฝ่ายตรงข้าม เป็นการประเมินเพื่อลดความลำเอียงในการประเมิน มีจุดเด่นคือให้ความสนใจในลักษณะบางเรื่องที่เป็นจุดประสงค์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการทำให้ได้ข้อมูลตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย จะเห็นได้ว่าการประเมินมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการประเมินแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้ประเมินและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับต่างๆมากขึ้นโดยที่ผู้ประเมินเข้าไปมีบทบาทเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมุ่งพัฒนาตนเองตามศักยภาพของบุคคลเหล่านั้นโดยใช้วิธีการเชิงธรรมชาติ มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ข้อดีคือ ไม่ส่งเสริมการแข่งขันทำให้ทั้งผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินไม่เกิดความเครียด เป็นการประเมินที่ใช้ขอมูลจากหลายแหล่งรอบด้านซึ่งสอดคล้องกับสภาพจริงมากที่สุด เป็นการประเมินที่เน้นความเป็นมนุษย์สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ และสุดท้ายคือมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนข้อจำกัดของการประเมินเชิงธรรมชาติและการประเมินแบบมีส่วนร่วมมีดังนี้ ประการแรกรูปแบบการประเมินขึ้นอยู่กับผู้ประเมินเพราะฉะนั้นผู้ประเมินต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงมิเช่นนั้นจะเกิดการผิดพลาดในการวิเคราะห์และแปลความหมาย ประการที่ 2ต้องใช้เวลา แรงงาน และทรัพยากรเป็นอย่างมาก ประการที่ 3 การที่ให้ผู้ประเมินเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการอย่างลึกซึ้งอาจเป็นดาบสองคมคืออาจก่อให้เกิดอคติได้ จึงควรใช้ผู้ประเมินที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการที่มุ่งประเมิน

3.มีองค์กรหรือสมาคมทางการประเมิน การที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ชุมชนของการประเมินจึงขยายวงกว้างขวางมากยิ่งขึ้น มีองค์กรหรือสมาคมทางการประเมินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมีทั้งองค์กรภายในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ศูนย์การประเมิน สมาคมทางการประเมินของสหรัฐอเมริกา กลุ่มสนใจในการประเมินนานาชาติ และการประเมินข้ามวัฒนธรรม และองค์กรความร่วมมือระหว่างชาติทางการประเมิน มีการแลกเปลี่ยนนักประเมินจากภูมิภาคอื่น ๆ ทำให้มีการขยายองค์ความรู้ทางการประเมินอย่างกว้างขวาง

4.มีแหล่งข้อมูลและการเผยแพร่สารสนเทศทางการประเมินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ องค์กร
หรือสมาคมทางการประเมินมีการเผยแพร่สารสนเทศและติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตทำให้โลกของการประเมินสามารถเชื่อมโยงกันได้ตลอดเวลา
5.มีการผลิตบุคลากรทางการประเมิน และการเผยแพร่ความก้าวหน้าทางการประเมินมีการจัด
หลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการประเมินในสถาบันอุดมศึกษาอย่างกว้างขวาง และมีวารสารที่เผยแพร่สารสนเทศด้านการประเมินทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์ และเผยแพร่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้มของการประเมิน ตามการพยากรณ์ของวอร์เธ็น
...1.การประเมินจะเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น
...2.จะมีการประเมินในองค์กรทั้งของรัฐและเอกชน
...3.การประเมินจะเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
...4.วิธีการประเมินที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกาจะมีการจำลองไปใช้ในบริบทของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
...5.การประเมินบางด้านอาจมีการขยายตัวอย่างช้า ๆจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ด้านสุขภาพ
.....การศึกษา จิตวิทยา การจัดสวัสดิการสังคม
...6.การประเมินและนักประเมินจะถูกแทรกแซงทางการเมืองมากขึ้น
...7.จะมีการเผยแพร่สารสนเทศเกี่ยวกับการประเมินอย่างต่อเนื่อง
...8.ประเด็นเรื่องจริยธรรมและมาตรฐานต่าง ๆ จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันในกลุ่มนักประเมิน
...9.การประเมินโครงการจะเติบโตอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง ก้าวไปสู่การเป็นวิชาชีพต่อไป
...10.การที่สังคมมีความต้องการการประเมินเป็นอย่างมากอาชีพนักประเมินจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น
...11.มีการจัดหลักสูตรด้านการประเมินมากขึ้น
...12.การประเมินภายในจะกลายมาเป็นภาระงานขององค์กรต่าง ๆ
...13.ความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการรายงานการประเมิน
......เปลี่ยนไปมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการรายงานผลมากขึ้น
...14.ความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีทำให้มีการใช้เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีกลยุทธ์มากขึ้น

ส่วนทิศทางการประเมินทางการศึกษา ก็มีความสอดคล้องกับทิศทางการประเมินทั่วไป
แต่จะประยุกต์หลักการมาใช้กับบริบททางการศึกษา พิจารณาได้จากประเด็นต่าง ๆ เช่นเดียวกันได้แก่ประการที่ 1 แนวคิดและวิธีการทางการศึกษา และนิยมแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการประเมินเชิงธรรมชาติและการมีส่วนร่วมมากขึ้น ในหลายประเทศกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชนให้มั่นใจว่าสถาบันการศึกษาสามารถให้ผลผลิตทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความว่าองค์กรทางการศึกษาควรมีการประเมินทั้งระบบอยู่เสมอ ประการที่ 2 มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทางการศึกษา มีทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทางการศึกษาโดยเฉพาะ เช่นคณะกรรมการร่วมทางมาตรฐานเพื่อการประเมินทางการศึกษา สมาคมวิจัยประเมินผล และองค์กรการประเมินที่ประเมินทั่วไป ประการที่ 3 มีการผลิตบุคลากรทางการศึกษา ประการที่ 4 มีแหล่งข้อมูลและการเผยแพร่ความก้าวหน้าเกี่ยวกับการประเมินทางการศึกษา สำหรับทิศทางการประเมินทางการศึกษาในประเทศไทย มีแนวคิดและวิธีการสอดคล้องกับแนวคิดของสากล พิจารณาได้จากแนวคิดและวิธีการประเมินทางการศึกษาของประเทศไทย การผลิตบุคลากรด้านการประเมินทางการทางการศึกษา สถาบันการศึกษาต่าง ๆมีการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านการประเมินมากขึ้น หลายสถาบันจัดหลักสูตรการฝึกอบรม เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานและหลักการสำคัญของการประเมิน มีความสามารถในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน มีความสามารถในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน
ทิศทางของการประเมินทางการศึกษาในประเทศไทย มีแนวคิดและวิธีการที่กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 สอดคล้องกับแนวคิดของสากล แนวโน้มของการประเมินทางการศึกษาให้ความสำคัญกับการประเมินตนเองมากขึ้น เพราะหากมีการดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีการนำไปใช้จะมีประโยชน์ในการพัฒนาตามศักยภาพของตนเป็นอย่างมาก